วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เจตคติ

เจตคติ
            2.1 ความหมายและประเภทของเจตคติ
            เจตคติบางครั้งก็เรียกทัศนคติ มีความหมายตามคำอธิบายของนักจิตวิทยา เช่น อัลพอร์ท (Allport อ้างถึงในนวลศิริ เปาโรหิต, 2545 : 125) ได้ให้ความหมายของเจตคติว่า เป็นสภาวะของความพร้อมทางจิตใจซึ่งเกิดจาก
ประสบการณ์ สภาวะความพร้อมนี้เป็นแรงที่กำหนดทิศทางของปฏิกิริยาระหว่างบุคคลที่มีต่อบุคคล สิ่งของและ สถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง เจตคติจึงก่อรูปได้ดังนี้
            1. เกิดจากการเรียนรู้ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมในสังคม
            2. การสร้างความรู้สึกจากประสบการณ์ของตนเอง
            3. ประสบการณ์ที่ได้รับจากเดิม มีทั้งทางบวกและลบ จะส่งผลถึงเจตคติต่อสิ่งใหม่ที่คล้ายคลึงกัน
            4. การเลียนแบบบุคคลที่ตนเองให้ความสำคัญ และรับเอาเจตคตินั้นมาเป็นของตน
            เบลกินและสกายเดล (Belkin and Skydell อ้างถึงใน จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย, 2549 : 58) ให้ความสำคัญ ของเจตคติว่า เป็นแนวโน้มที่บุคคลจะตอบสนองในทางที่พอใจหรือไม่พอใจต่อสถานการณ์ต่าง ๆ
            เจตคติจึงมีความหมายสรุปได้ดังนี้
            1. ความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ หลังจากที่บุคคลได้มีประสบการณ์ในสิ่งนั้น ความรู้สึกนี้จึงแบ่งเป็น3 ลักษณะ คือ
                1.1 ความรู้สึกในทางบวก เป็นการแสดงออกในลักษณะของความพึงพอใจ เห็นด้วย ชอบและสนับสนุน
                1.2 ความรู้สึกในทางลบ เป็นการแสดงออกในลักษณะไม่พึงพอใจ ไม่เห็นด้วย ไม่ชอบและไม่สนับสนุน
                1.3 ความรู้สึกที่เป็นกลางคือไม่มีความรู้สึกใด ๆ
            2. บุคคลแสดงความรู้สึกทางด้านพฤติกรรม ซึ่งแบ่งพฤติกรรมเป็น 2 ลักษณะ คือ
                2.1 พฤติกรรมภายนอก เป็นพฤติกรรมที่สังเกตได้ มีการกล่าวถึง สนับสนุน ท่าทางหน้าตาบ่งบอก ความพึงพอใจ
                2.2 พฤติกรรมภายใน เป็นพฤติกรรมที่สังเกตไม่ได้ ชอบหรือไม่ชอบก็ไม่แสดงออก เจตคติแบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่
            1. เจตคติในด้านความรู้สึกหรืออารมณ์ (Affective Attitude) ประสบการณ์ที่คนได้สร้างความพึงพอใจและความสุขใจ จนกระทำให้มีเจตคติที่ดีต่อสิ่งนั้น ตลอดจนเรื่องอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน
            2. เจตคติทางปัญญา (Intellectual Attitude) เป็นเจตคติที่ประกอบด้วยความคิดและความรู้เป็นแกน บุคคลอาจมีเจตคติต่อบางสิ่งบางอย่างโดยอาศัยการศึกษา ความรู้ จนเกิดความเข้าใจและมีความสัมพันธ์กับจิตใจ คืออารมณ์และความรู้สึกร่วม หมายถึง มีความรู้สึกจนเกิดความซาบซึ้งเห็นดีเห็นงามด้วย เช่น เจตคติที่มีต่อศาสนาเจตคติที่ไม่ดีต่อยาเสพติด
            3. เจตคติทางการกระทำ (Action-oriented Attitude) เป็นเจตคติที่พร้อมจะนำไปปฏิบัติ เพื่อสนอง ความต้องการของบุคคล เช่น เจตคติที่ดีต่อการพูดจาไพเราะอ่อนหวานเพื่อให้คนอื่นเกิดความนิยม เจตคติที่มีต่องานในสำนักงาน
            4. เจตคติทางด้านความสมดุล (Balanced Attitude) ประกอบด้วยความสัมพันธ์ทางด้านความรู้สึกและอารมณ์เจตคติทางปัญญาและเจตคติทางการกระทำ เป็นเจตคติที่สามารถตอบสนองต่อความพึงพอใจในการทำงาน ทำให้บุคคลสามารถทำงานตามเป้าหมายของตนเองและองค์การได้
            5. เจตคติในการป้องกันตัวเอง (Ego-defensive Attitude) เป็นเจตคติเกี่ยวกับการป้องกันตนเองให้พ้นจากความขัดแย้งภายในใจ ประกอบด้วยความสัมพันธ์ทั้ง 3 ด้าน คือ ความสัมพันธ์ด้านความรู้สึก อารมณ์ ด้านปัญญาและด้านการกระทำ
            2.2 องค์ประกอบของเจตคติ
            โดยทั่วไป เจตคติประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
            1. องค์ประกอบด้านความรู้ความเข้าใจ (Cognitive Component) เป็นองค์ประกอบด้านความรู้ความเข้าใจของบุคคลที่มีต่อสิ่งเร้านั้น ๆ เพื่อเป็นเหตุผลที่จะสรุปความ และรวมเป็นความเชื่อ หรือช่วยในการประเมินค่าสิ่งเร้านั้นๆ
            2. องค์ประกอบด้านความรู้สึกและอารมณ์ (Affective Component) เป็นองค์ประกอบด้านความรู้สึก หรืออารมณ์ของบุคคล ที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งเร้า ต่างเป็นผลต่อเนื่องมาจากที่บุคคลประเมินค่าสิ่งเร้านั้น แล้วพบว่าพอใจหรือไม่พอใจ ต้องการหรือไม่ต้องการ ดีหรือเลว
            องค์ประกอบทั้งสองอย่างมีความสัมพันธ์กัน เจคติบางอย่างจะประกอบด้วยความรู้ความเข้าใจมาก แต่ประกอบด้วยองค์ประกอบด้านความรู้สึกและอารมณ์น้อย เช่น เจตคติที่มีต่องานที่ทำ ส่วนเจตคติที่มีต่อแฟชั่นเสื้อผ้าจะมีองค์ประกอบด้านความรู้สึกและอารมณ์สูง แต่มีองค์ประกอบด้านความรู้ความเข้าใจต่ำ
            3. องค์ประกอบด้านพฤติกรรม (Behavioural Component) เป็นองค์ประกอบทางด้านความพร้อม หรือความโน้มเอียงที่บุคคลประพฤติปฏิบัติ หรือตอบสนองต่อสิ่งเร้าในทิศทางที่จะสนับสนุนหรือคัดค้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อ หรือความรู้สึกของบุคคลที่ได้รับจากการประเมินค่าให้สอดคล้องกับความรู้สึกที่มีอยู่
            เจตคติที่บุคคลมีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด ต้องประกอบด้วยทั้งสามองค์ประกอบเสมอ แต่จะมีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันไป โดยปรกติบุคคลมักแสดงพฤติกรรมในทิศทางที่สอดคล้องกับเจตคติที่มีอยู่แต่ก็ไม่เสมอไปทุกกรณี ในบางครั้งเรามีเจตคติอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้แสดงพฤติกรรมตามเจตคติที่มีอยู่ก็มี
            2.3 คุณลักษณะของเจตคติ
            เจตคติมีคุณลักษณะที่สำคัญดังนี้
            1. เจตคติเกิดจากประสบการณ์ สิ่งเร้าต่าง ๆ รอบตัวบุคคล การอบรมเลี้ยงดู การเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดเจตคติ แม้ว่าจะมีประสบการณ์ที่เหมือนกันก็เป็นเจตคติที่แตกต่างกันได้ ด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น สติปัญญา อายุ เป็นต้น
            2. เจตคติเป็นการเตรียม หรือความพร้อมในการตอบสนองต่อสิ่งเร้า เป็นการเตรียมความพร้อมภายในของจิตใจมากกว่าภายนอกที่สังเกตได้ สภาวะความพร้อมที่จะตอบสนอง มีลักษณะที่ซับซ้อนของบุคคลว่า ชอบหรือ ไม่ชอบ ยอมรับหรือไม่ยอมรับ เกี่ยวข้องกับอารมณ์ด้วย
            3. เจตคติมีทิศทางของการประเมิน ทิศทางของการประเมินคือลักษณะความรู้สึกหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นความรู้สึกหรือประเมินว่าชอบ พอใจ เห็นด้วย ก็คือเป็นทิศทางในทางที่ดี เรียกว่าเป็นทิศทางในทางบวก และถ้าประเมินออกมาในทางไม่ดี เช่น ไม่ชอบ ไม่พอใจ ก็มีทิศทางในทางลบ เจตคติทางลบไม่ได้หมายความว่าไม่ควรมีเจตคตินั้นเป็นเพียงความรู้สึกที่ไม่ดีต่อสิ่งนั้น
            4. เจตคติมีความเข้ม คือมีปริมาณมากน้อยของความรู้สึก ถ้าชอบมากหรือไม่เห็นด้วยอย่างมากก็แสดงว่ามี ความเข้มสูง ถ้าไม่ชอบเลยหรือเกลียดที่สุดก็แสดงว่ามีความเข้มสูงไปอีกทางหนึ่ง
            5. เจตคติมีความคงทน เจตคติเป็นสิ่งที่บุคคลยึดมั่นถือมั่น และมีส่วนในการกำหนดพฤติกรรมของคนนั้น การยึดมั่นในเจตคติต่อสิ่งใด ทำให้การเปลี่ยนแปลงเจตคติเกิดขึ้นได้ยาก
            6. เจตคติมีทั้งพฤติกรรมภายในและพฤติกรรมภายนอก พฤติกรรมภายในเป็นสภาวะทางจิตใจ ซึ่งหากไม่ได้แสดงออก ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าบุคคลนั้นมีเจตคติอย่างไรในเรื่องนั้น เจตคติเป็นพฤติกรรมภายนอกแสดงออกเนื่องจากถูกกระตุ้น และการกระตุ้นยังมีสาเหตุอื่น ๆ ร่วมอยู่ด้วย
            7. เจตคติต้องมีสิ่งเร้าจึงมีการตอบสนองขึ้น ไม่จำเป็นว่าเจตคติที่แสดงออกจากพฤติกรรมภายในและพฤติกรรมภายนอกจะต้องตรงกัน เพราะก่อนแสดงออกนั้นก็จะปรับปรุงให้เหมาะกับสภาพของสังคม แล้วจึงแสดงออกเป็นพฤติกรรมภายนอก
            2.4 การเกิดและการเปลี่ยนแปลงเจตคติ
            เจตคติเกิดจากการมีประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม หากประสบการณ์ที่เราได้รับเพิ่มเติมแตกต่างจากประสบการณ์เดิม เราก็อาจเปลี่ยนแปลงเจตคติได้ การเปลี่ยนแปลงเจตคติมี 2 ทาง
            1. การเปลี่ยนแปลงในทางเดียวกัน (Congruent Change) หมายถึง เจตคติเดิมของบุคคลที่เป็นไปในทางบวกจะเพิ่มมากขึ้นในทางบวก แต่ถ้าเจตคติเป็นไปทางลบก็เพิ่มมากขึ้นในทางลบด้วย
            2. การเปลี่ยนแปลงไปคนละทาง (Incongruent Change) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงเจตคติเดิมของบุคคลที่เป็นไปในทางบวกจะลดลงและไปเพิ่มทางลบ
            หลักการของการเปลี่ยนแปลงเจตคติ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงไปในทางเดียวกัน หรือการเปลี่ยนแปลงไป คนละทางนั้น มีหลักการว่า เจตคติที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเดียวกันเปลี่ยนได้ง่ายกว่าเจตคติที่เปลี่ยนแปลงไปคนละทาง เพราะการเปลี่ยนแปลงไปในทางเดียวกันมีความมั่นคง ความคงที่มากกว่าการเปลี่ยนแปลงไปคนละทางการเปลี่ยนแปลงเจตคติเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่อไปนี้
            1. ความสุดขีด (Extremeness) เจตคติที่อยู่ปลายสุดเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่าเจตคติที่ไม่รุนแรงนัก เช่น ความรักที่สุดและความเกลียดที่สุดเปลี่ยนแปลงยากกว่าความรักและความเกลียดที่ไม่มากนัก
            2. ความซับซ้อน (Multicomplexity) เจตคติที่เกิดจากสาเหตุเดียวกันเปลี่ยนได้ง่ายกว่าเกิดจากหลาย ๆ สาเหตุ
            3. ความคงที่ (Consistency) เจตคติที่มีลักษณะคงที่มาก หมายถึงเจตคติที่เป็นความเชื่อฝังใจ เปลี่ยนแปลงยากกว่าเจตคติทั่วไป
            4. ความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่อง (Interconnectedness) เจตคติที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะที่เป็นไปในทางเดียวกันเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่าเจตคติที่มีความสัมพันธ์ไปในทางตรงกันข้าม
            5 ความแข็งแกร่งและจำนวนความต้องการ (Strong and Number of Wants Served) หมายถึง เจตคติที่มีความจำเป็นและความต้องการในระดับสูง เปลี่ยนแปลงได้ยากกว่าเจตคติที่ไม่แข็งแกร่งและไม่อยู่ในความต้องการ
            6. ความเกี่ยวเนื่องกับค่านิยม (Centrality of Related Values) เจตคติหลายเรื่องเกี่ยวเนื่องจากค่านิยมความเชื่อว่าค่านิยมนั้นดีน่าปรารถนา และเจตคติสืบเนื่องจากค่านิยม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก


ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก  http://www.br.ac.th/E-learning/lesson4_2.html

วัฒนธรรมกับระบบความเชื่อในสังคมไทย


วัฒนธรรมกับระบบความเชื่อในสังคมไทย



ระบบความเชื่อ ย่อมรวมถึงศาสนา และความเชื่อในลัทธิต่างๆ ศาสนา ในความหมายกว้าง ๆ คือการบวงสรวงบูชาหรือการสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างมนุษย์กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ซึ่งมนุษย์เชื่อว่าสามารถควบคุมหรือมีอิทธิพลเหนือวิถีทางของธรรมชาติและวิถีชีวิตของมนุษย์ ศาสนาตามทัศนะทางมานุษยวิทยาจึงบ่งบอกนัยถึงการขยายความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ออกไปสู่ความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีอำนาจเหนือมนุษย์และธรรมชาติ ดังนั้นศาสนาและความเชื่อทางศาสนาจึงเป็นสิ่งสากลที่เราพบเห็นได้ในทุกสังคมตลอดมาทุกยุคทุกสมัย (ยศ สันตสมบัติ, 2537 : 214) ศาสนาอาจจัดว่าเป็นวัฒนธรรมทางนามธรรมที่มีผลต่อการสร้างวัฒนธรรมทางรูปธรรม การทำความเข้าใจศาสนาเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แรกเริ่มทีเดียวศาสนาและความเชื่อถือกำเนิดจากความกลัว ความต้องการความมั่นคงทางจิตใจ และความสงสัยในปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวมนุษย์ ในสมัยโบราณ มนุษย์ดำเนินชีวิตในท่ามกลางปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจได้ ไม่ว่าจะเป็นความมืด ความสว่าง ความร้อน ความหนาว พายุฝน ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ภาวะเกิด แก่ เจ็บ ตาย ฯลฯ ทำให้เกิดความกลัวและเชื่อว่าต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจลี้ลับอยู่เหนือปรากฏการณ์เหล่านี้ซึ่งสามารถบันดาลคุณและโทษแก่มนุษย์ได้ ฉะนั้นมนุษย์จึงพยายามหาวิธีการอ้อนวอนเอาใจหรือต่อรองกับอำนาจลึกลับของธรรมชาติด้วยการบูชา บนบานหรือเซ่นไหว้

โดยทั่วไปศาสนามีองค์ประกอบที่สำคัญ (สุชีพ ปุญญานุภาพ, 2532 : 10) คือ 1) ศาสดาหรือผู้ประกาศศาสนา (เช่น พระพุทธเจ้า พระไครสต์ พระนะบีมูฮัมหมัด เป็นต้น)
2) ปรัชญาและหลักปฏิบัติ แนวคิด ความเชื่อ ซึ่งก็คือพระธรรมคำสั่งสอน ทั้งในรูปของตำรับตำรา การเทศนาสั่งสอน
3) นักบวชหรือพระสงฆ์ และศาสนิกหรือผู้นับถือศาสนา
4) ศาสนสถานและศาสนวัตถุ ซึ่งมักปรากฏในศิลปกรรมด้านต่าง ๆ
5) พิธีกรรม ซึ่งก็คือพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและย่อมจะต้องมีวัตถุประสงค์มีความหมายตามความเข้าใจอันเกิดจากพื้นฐานความเชื่อทางศาสนาของตน

ศาสนา - ความเชื่อในสังคมไทย 
ในที่นี้จึงจะกล่าวเฉพาะลักษณะของศาสนาความเชื่อที่แพร่หลายในสังคมไทยและมีอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมไทยในวงกว้าง นั่นก็คือรูปแบบของศาสนาความเชื่อที่มีทั้งผี พราหมณ์และพุทธปะปนกันอยู่ (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, 2536 : 21-34)

1. ผีและอำนาจลึกลับในธรรมชาติ
หรือที่เราใช้คำว่าไสยศาสตร์ (ไสยะ = ความหลับไหล มัวเมา ตรงข้ามกับคำว่า พุทธะ หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) เป็นความเชื่อดั้งเดิมของชนชาติไทยที่มีมาก่อนศาสนาพราหมณ์และก่อนที่พุทธศาสนาจะเผยแผ่เข้ามาในดินแดนแถบนี้ ผีในความเชื่อของชาวไทยน่าจะแบ่งทำความเข้าใจง่าย ๆ ออกเป็นประเภทต่างๆ คือ
  • ผีที่เป็นผู้พิทักษ์รักษาหรือเทวดาอารักษ์ เช่น ผีแถน ซึ่งชาวอีสานเชื่อกันว่าเป็นผู้ให้กำเนิดโลก เป็นผู้ที่สามารถดลบันดาลให้ฝนฟ้าตกและข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ นอกจากนั้นก็มีผีที่เชื่อว่าสิงสถิตตามธรรมชาติต่าง ๆ เช่น เจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าที่เจ้าทาง แม่ธรณี แม่โพสพ รุกขเทวดา นางไม้ และยังมีผีประจำสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ผีเตา ผีนางด้ง ผีนางสาก เป็นต้น ความเชื่อเกี่ยวกับศาลหลักเมืองก็เชื่อว่าผีเทพยดาที่ทำหน้าที่ปกปักรักษาบ้านเมือง ในชุมชนเล็ก ๆ ตามชนบทมักมีหลักบ้านหรือใจบ้าน (หัวใจหรือศูนย์กลางของบ้าน) มีสัญลักษณ์ (ต่างรูปแบบกันไป) ที่เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ อยู่กึ่งกลางชุมชน และใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมในหมู่บ้านด้วย ชุมชนบางแห่งเมื่อเจริญขึ้นเป็นตำบลเป็นจังหวัด ก็จะมีศาลหลักเมืองเช่นกัน ดังเราได้เห็นอยู่เกือบทุกจังหวัด
  • ผีบรรพบุรุษและผีวีรบุรุษ มนุษย์เชื่อว่า เมื่อญาติพี่น้องตายไปแล้ว วิญญาณจะออกจากร่างไปสู่ที่ต่าง ๆ บ้างก็ไปเกิดใหม่ บ้างก็ยังวนเวียนอยู่ในโลกมนุษย์ ผีเหล่านี้คือผีบรรพบุรุษหรือผีปู่ย่าตายาย หรือบางทีก็เรียก ผีเรือน ส่วนผีวีรบุรุษนั้นคือบุคคล เมื่อยังมีชีวิต เป็นคนดีที่มีความเก่งกล้าสามารถเป็นพิเศษ เป็นผู้นำ เป็นเจ้าเมืองหรือเป็นผู้ก่อตั้งบ้านเมืองหรือนักรบซึ่งเมื่อตายไปก็ยังมีผู้เคารพนับถืออย่างเช่น ผีเจ้าเมืองของชาวไทยใหญ่ในแม่ฮ่องสอน ย่าโมของชาวโคราช พระยาพิชัยดาบหักของชาวอุตรดิตถ์ เจ้าพ่อพญาแลของชาวชัยภูมิ หรือเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยวของชาวปัตตานี ตลอดจนพระเจ้าตากสิน และรัชกาลที่ 5 ที่มีผู้นับถือกันอย่างแพร่หลายอยู่ในขณะนี้ ทั้งผีบรรพบุรุษ และผีวีรบุรุษจัดว่า เป็นผีดีเพราะเป็นผู้คุ้มครองรักษาลูกหลานหรือชาวบ้านชาวเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข นอกจากนี้แล้วยังคอยควบคุมให้ลูกหลานหรือคนในหมู่บ้านมิให้ทำผิดขนบจารีตประเพณี หากลูกหลานทำผิดประเพณีที่เรียกว่า ขึด (ทางเหนือ) หรือขะลำ (ทางภาคอีสาน) อย่างเช่น พี่น้องทะเลาะวิวาทกัน หรือลูกสาวหลานสาวถูกผู้ชายแตะเนื้อต้องตัว อย่างที่เรียกว่า ทำผิดผี คนในครอบครัวก็จะต้องทำพิธีขอขมาต่อวิญญาณผีปู่ย่า หรือปู่ตา เป็นต้น
2. ศาสนาพราหมณ์
ศาสนาพราหมณ์เข้ามาปะปนอยู่ในคติความเชื่อและวัฒนธรรมไทยหลายรูปแบบ (พระครูวามเทพมุนี (ชวิน รังสีพราหมณกุล), 2534, สัมภาษณ์วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 หน้า 42-48) ได้แก่
  • ความเชื่อในเทพเจ้า มีเทพเจ้าหลายองค์ในศาสนาพราหมณ์ที่กลายมาเป็นที่เคารพนับถือของชาวไทย เช่น พระพรหมที่คนไทยนิยมไปกราบไหว้บนบาน พระอิศวร พระพิฆเนศวร เทพแห่งศิลปะ หรือพระอินทร์ ซึ่งปรากฏในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง
             อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากคุณลักษณะเฉพาะของเทพแต่ละองค์ ตามตำนานเทวกำเนิดแล้ว ก็จะพบว่าอุปนิสัยของเทพเหล่านี้ สะท้อนถึงภาวะหมุนเวียนของโลก โดยเริ่มจากพระอิศวร ซึ่งมักให้พรคนที่บำเพ็ญตบะแก่กล้า ผู้ได้รับพรก็มักลืมตัวใช้อิทธิฤทธิ์ ก่อความวุ่นวาย ความทุกข์ร้อนแก่สังคม จนพระนารายณ์ ต้องลงมาปราบด้วยวิธีล้างโลกด้วยไฟประลัยกัลป์ ต่อจากนั้นพระพรหม ก็จะสร้างโลกขึ้นใหม่หมุนเวียนไปเช่นนี้
  • ความเชื่อในเรื่องเวทมนต์คาถา ยันต์ ความเชื่อในโชคลาง และการดูฤกษ์ยาม เป็นต้น
  • พิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นพิธีกรรมต้อนรับเทพเจ้าของพราหมณ์ พิธีแรกนาขวัญ พิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พิธีขอฝน พิธีสะเดาะเคราะห์ การตั้งศาลพระภูมิ ตลอดจนพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ใช้น้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่น การรดน้ำมนต์ รดน้ำสังข์ในพิธีแต่งงาน การเจิมแป้งกระแจะ เป็นต้น
3. ศาสนาพุทธ
พระพุทธศาสนา ซึ่งวางรากฐานอย่างมั่นคงและเป็นที่ยอมรับให้เป็นศาสนาประจำชาติไทยมาจนถึงปัจจุบันนั้นได้เริ่มเผยแผ่เข้ามาตั้งแต่ครั้งที่ผู้คนในดินแดนแถบนี้นับถือผีอยู่ก่อนแล้ว และจากการที่พุทธศาสนามีความยืดหยุ่นสูงและมิได้มีการบังคับให้เลิกเชื่อลัทธิอื่น ๆ รูปแบบของพุทธศาสนาที่ยึดถือปฏิบัติกันในสังคมไทยส่วนใหญ่จึงมีลักษณะของความเชื่อเกี่ยวกับผีและไสยศาสตร์ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีอยู่แต่ดั้งเดิม ตลอดจนพิธีกรรมและความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ผสมผสานอยู่ไม่น้อย อย่างเช่น การนับถือในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระเครื่อง การบนบานศาลกล่าวต่อพระพุทธรูปสำคัญ ๆ อย่างหลวงพ่อพระแก้วมรกต หลวงพ่อโสธร ตลอดจนการที่พระสงฆ์บางรูปทำพิธีรดน้ำมนต์ (พราหมณ์) พ่นน้ำหมากเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บหรือปัดเสนียดรังควาน การเอ่ยชื่อพระพุทธรูปองค์สำคัญโดยใช้คำนำหน้าว่า “หลวงพ่อ” นั้น สะท้อนให้เห็นถึงการดึงเอาพระพุทธรูปให้มาสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมนุษย์เพื่อความอบอุ่นใจ มั่นคงทางใจยิ่งขึ้น นอกจากนี้การทำบุญเลี้ยงพระมักจะต้องจัด “ข้าวพระ” คือ ข้าวปลาอาหารสำรับเล็ก ๆ เพื่อถวายพระพุทธรูปด้วย ซึ่งหากพิจารณาตามหลักพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธรูปคือตัวแทนของพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงหลุดพ้นจากโลกนี้แล้วจึงย่อมไม่หิว ไม่กระหาย ไม่หนาว ไม่ร้อน การจัดของเซ่นไหว้ จึงเหมือนผสานเอาความเชื่อทางไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

โดยเนื้อแท้แล้วศาสนาพุทธมิได้ให้ความสำคัญกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์และอำนาจเหนือธรรมชาติ แต่เน้นการปฏิบัติทางศีลธรรมและการทำจิตให้บริสุทธิ์ โดยมีหลักทั่วไปคือ ทำความดี ละเว้นความชั่ว ชำระจิตใจให้สะอาด และการฝึกสมาธิจนกระทั่งบรรลุถึง “วิมุตติ” คือความหลุดพ้นจากบ่วงกรรมทั้งปวง

หลักธรรมทางพุทธศาสนา จึงสามารถนำมาเลือกใช้แก้ปัญหาสังคม ปัญหาชีวิตได้ เช่น การทำงานหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนประสบผลสำเร็จได้ ควรจะนึกถึงธรรมะเรื่อง อิทธิบาท 4 (ฉันทะ = ความพอใจ, วิริยะ = เพียร, จิตตะ = จดจ่อ, วิมังสา = ใคร่ครวญ) เป็นต้น หรือการสอนให้มนุษย์รู้จักความพอดีหรือเดินสายกลาง ไม่มากไม่น้อยเกินไป (มัชฌิมาปฏิปทา) ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางพระราชดำริในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน คือ การมีชีวิตพอเพียง

วัฒนธรรมกับระบบความเชื่อในสังคมไทย

2
ประเพณี – พิธีกรรมในสังคมไทย 
คำว่า ประเพณี (tradition) กับคำว่าพิธีกรรม (rite) มีความหมายใกล้เคียงกันมาก บางครั้งก็ใช้ในความหมายเดียวกัน แต่เท่าที่ผ่านมา คำแรก น่าจะมีความหมายกว้างกว่าคือ กินความไปถึงวิถีชีวิต (way of life) ในขณะที่คำว่า พิธีกรรมมีความหมายไปในเชิงพิธีการ หรือกิจกรรมเฉพาะกิจมากกว่า พิธีกรรมที่พบในสังคมไทยอาจแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ พิธีกรรมตามเทศกาล (festival) พิธีกรรมที่เกี่ยวกับวงจรชีวิต (rite of passage) พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการทำมาหากิน และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชุมชนหรือท้องถิ่น ซึ่งแต่ละพิธีกรรมที่แจกแจงแยกย่อยนี้ ก็ยังมีความเหลื่อมซ้อนกันด้วย

1. พิธีกรรมตามเทศกาล
ในรอบปีหนึ่ง ๆ จะมีเทศกาลหรือวาระสำคัญมากมาย เช่น ในราชสำนักก็จะมีพระราชพิธีสิบสองเดือน หรือทางภาคอีสานก็จะมี ฮีตสิบสองเดือน เป็นต้น พิธีกรรมตามเทศกาลจึงมักเป็นพิธีกรรมชุมชนหรืออาจเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำมาหากินก็ได้ สามารถทราบกำหนดเวลาของงานได้ชัดเจน ในขณะที่เราอาจรู้กำหนดการจัดพิธีกรรมวงจรชีวิตได้ในบางพิธีเท่านั้น เช่นเรากำหนดวันบวช วันแต่งงานได้ แต่กำหนดวันถึงแก่กรรมไม่ได้ ยกเว้นบางรายแต่ก็เป็นส่วนน้อยมาก พิธีกรรมตามเทศกาลจึงต้องทำทุกปี ในขณะที่พิธีกรรมเกี่ยวกับวงจรชีวิตอาจไม่ทำทุกปีในครอบครัวเดียวกัน

พิธีกรรมตามเทศกาลเสมือนหนึ่งเป็นการวางแผนการดำเนินชีวิตในแต่ละปีด้วย เสมือนว่ามีแผนหลัก (master plan) ไว้ เช่น ในช่วงหน้าหนาวจะมีประเพณีถวายฟืนให้ทางวัดเพื่อคลายอากาศหนาว (ประเพณีไทยใหญ่ทาง จ.แม่ฮ่องสอน เป็นต้น)

นอกจากนี้ พิธีกรรมตามเทศกาลเฉพาะที่ปรากฏในสังคมไทยซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้น น่าสังเกตว่าในแต่ละปีจะมีเทศกาลถือศีลเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลในเรื่องของการรักษาจิตใจให้สงบ ไม่โกรธ ไม่อิจฉาริษยา พร้อมกับการรักษาสุขภาพกายไปในตัว โดยเฉพาะการงดบริโภคอาหารบางจำพวก หรืองดเป็นช่วงเวลา เช่น ในกลุ่มพี่น้องชาวอิสลามจะมีพิธีถือศีลอด (ตลอดเดือน เรียกเดือนรอมฎอน) งดบริโภคอาหาร-น้ำก่อนตะวันตกดินไปจนถึงตะวันขึ้นของอีกวันหนึ่ง ในขณะที่พี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนจะมีเทศกาลกินเจ งดการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นเวลาสิบวัน ส่วนพี่น้องชาวไทยนั้นมีเทศกาลเข้าพรรษาที่พุทธศาสนิกชนจะถืออุโบสถศีล (ศีลแปด ซึ่งมีข้อห้ามในการบริโภคอาหารยามวิกาล งดบริโภคเครื่องดองของเมา บทบัญญัติในศาสนาเหล่านี้ทำให้เกิดรูปแบบวัฒนธรรมที่ต้องการให้มนุษย์หยุดสำรวจตนเองทั้งกายและใจ อย่างน้อยก็อาจเป็นกุศโลบายให้ระบบย่อยอาหารในร่างกายได้มีโอกาสพักฟื้นการทำงานลงบ้าง เป็นที่น่าสังเกตว่า เทศกาลถืออุโบสถศีลนี้เริ่มจากเข้าพรรษาในช่วงกลาง ๆ ปี ไปจนถึงออกพรรษาในช่วงต้น ๆ ของปลายปี ซึ่งจะซ้อนเหลื่อมหรือไล่เลี่ยกับเทศกาลกินเจกับเทศกาลถือศีลอดรอมฎอน อย่างไรก็ตามเทศกาลเหล่านี้ก็ควรได้รับการพิจารณาทบทวนว่าดำเนินไปอย่างที่ไม่กระทบกับการดำเนินชีวิตโดยปกติของคนส่วนใหญ่ หรือทำกันเป็นค่านิยมหรือตื่นตามกระแสสังคม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ เทศกาลกินเจตามคติจีนที่ภายหลังทำให้พืชผักมีราคาสูงกว่าปกติมาก และเครื่องประกอบอาหารเจบางชนิดก็เข้าสู่กระแสธุรกิจแบบทุนนิยมมากขึ้น จนเกิดการโฆษณาแข่งขันกันอย่างมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการบิดผันเจตนารมณ์ของการกินเจไปเป็นเรื่องอื่น ๆ ที่เกิดกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์และเสียผลประโยชน์อันไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของกุศลจิตในเรื่องกินเจ

2. พิธีกรรมที่เกี่ยวกับวงจรชีวิต
ในชั่วชีวิตของคนเราตั้งแต่เกิดไปจนกระทั่งตายย่อมจะต้องผ่านเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของชีวิตหลายช่วงด้วยกัน ดังนั้น จึงต้องมีพิธีกรรมในแต่ละช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหรือช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เพื่อเสริมความมั่นใจ กล่าวคือ เมื่อแรกเกิดก็ต้องมีพิธีทำขวัญเด็กเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กที่เกิดมานั้นจะมีชีวิตรอดได้ไม่ตายเสียใน 3 วัน 7 วัน เมื่อโตขึ้นย่างเข้าสู่วัยรุ่นก็มีพิธีโกนจุก เพื่อแสดงว่าเด็กนั้นกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ต้องมีภาระรับผิดชอบเพิ่มขึ้นจะได้เป็นคนที่มีกำลังใจมั่นคง และประพฤติแต่สิ่งที่ชอบที่ควร เฉพาะผู้ชายยังต้องเข้าพิธีบวชเรียนอีก 3 เดือนเมื่ออายุ 20-21 ปี จากนั้นก็ถึงระยะของการสร้างครอบครัว ต้องเข้าพิธีหมั้นและแต่งงาน เมื่อเจ็บไข้หรือประสบเคราะห์ก็ยังต้องประกอบพิธีเรียกขวัญหรือสะเดาะเคราะห์ เช่นภาคกลางมีพิธีสวดโพชฌงค์ต่ออายุ ส่วนทางภาคเหนือมีพิธีสืบชาตา และเมื่อตายไปก็ยังต้องทำพิธีเกี่ยวกับงานศพ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือการปลอบประโลมญาติมิตรที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง พิธีกรรมในวงจรชีวิตจะช่วยเสริมความเข้มแข็งสามัคคีในหมู่เครือญาติได้ดี

3. พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการทำมาหากิน
ในชนบทไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นสังคมเกษตรกรรมนั้น การทำมาหากินอันเกี่ยวข้องกับธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ชาวไร่ชาวนาต้องพึ่งพาผลผลิตจากธรรมชาติ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติจึงเป็นวิถีชีวิตสำคัญของพวกเขา ดังนั้นจึงต้องประกอบพิธีกรรมเพื่อเอาอกเอาใจหรืออ้อนวอนสิ่งเหนือธรรมชาติเพื่อดลบันดาลให้มีน้ำเพียงพอแก่การเพาะปลูก และให้มีผลผลิตอุดมสมบูรณ์ จึงมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนาและทำขวัญข้าวในช่วงเวลาต่าง ๆ ของการทำนา นอกจากนี้ในภาคเหนือที่มีภูเขามากมาย จึงมีความจำเป็นต้องควบคุมน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกไม่ให้มีมากหรือน้อยจนเกินไป ซึ่งเรียกว่าระบบเหมืองฝาย เขาจึงต้องทำพิธีเลี้ยงผีฝาย หรือในภาคอีสาน เมื่อมีความแห้งแล้งเกิดขึ้นในฤดูทำนาก็ต้องทำพิธีจุดบั้งไฟเพื่อขอฝนจากพญาแถน เพราะต้องอาศัยน้ำฝน ส่วนชาวประมงในลุ่มแม่น้ำโขงทางตอนเหนือเมื่อถึงฤดูกาลล่าปลาบึกก็ต้องประกอบพิธีกรรมเพื่อขจัดอุปสรรคในการจับปลา ในขณะที่คนทำนาเกลือแถบสมุทรสงคราม สมุทรสาครยังมีศาลผีประจำนาเกลือ เป็นที่สักการะบูชา เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความมั่นใจในธรรมชาติที่อยู่เหนือการควบคุมของตนให้การทำมาหากินของตนสะดวกขึ้น ปลอดภัย และได้ผลผลิตมาก

4. พิธีกรรมที่เกี่ยวกับท้องถิ่นหรือกลุ่มชน
พิธีกรรมนี้มักจะเกี่ยวข้องกับเทวดา หรือผีที่ปกปักรักษาและคุ้มครองหมู่บ้าน เป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านทุกครัวเรือนในหมู่บ้านจะต้องมีส่วนร่วม เพื่อสวัสดิภาพ ความมั่นคง ความเจริญของหมู่คณะ อย่างเช่น การเลี้ยงผีเจ้าเมืองของชาวไทยใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน การทำพิธีไหว้เสาอินทขิลของชาวเชียงใหม่ พิธีเลี้ยงศาลผีปู่ตาของชาวอีสาน พิธีไหว้พระจันทร์ของชาวจีน หรืองานทำบุญเดือนสิบของชาวปักษ์ใต้ ในแถบอำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ ก็พบว่ามีพิธีส่งเรือเสดาะห์เคราะห์ที่ชาวบ้านจะปั้นดินเหนียวเป็นรูปคนและสัตว์ (เช่น วัว ควาย หมู หมา) เท่าจำนวนชีวิตในแต่ละบ้าน ใส่เรือที่ทำจากวัตถุที่หาได้ในท้องถิ่น ขนาดลำไม่ใหญ่นัก พร้อมข้าวปลาอาหารตามสมควร นำมารวมกันในช่วงหลังสงกรานต์ แล้วทำพิธีเลี้ยงผีประจำถิ่นของตน จากนั้นก็จะลอยเรือนี้ไปตามสายน้ำเสมือนว่าได้ส่งสิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดในบ้านให้ภูติผีแล้ว เชื่อว่าเป็นการเสดาะเคราะห์ให้และจะทำเช่นนี้เพื่อหลอกผีเป็นปี ๆ ไป

จะเห็นว่าพิธีกรรมทั้ง 4 ประเภทนี้อาจคาบเกี่ยวกันก็ได้ เช่น ประเพณีวิ่งควาย เป็นทั้งประเพณีตามเทศกาล (เข้าพรรษา) และเป็นทั้งประเพณีในชุมชน (จ.ชลบุรี) หรือประเพณีกินเหนียว (แต่งงาน) เป็นทั้งประเพณีในวงจรชีวิต ในขณะเดียวกันก็เป็นประเพณีท้องถิ่นชาวไทยมุสลิม (ภาคใต้) หรือประเพณีแซยิดวันเกิดของชาวจีนที่เป็นการแสดงความยินดีในวาระที่ผู้ใหญ่มีอายุครบปีนักกษัตร เช่น 60 ปี 72 ปี ก็มีความคาบเกี่ยวระหว่างประเพณีวงจรชีวิตกับประเพณีในกลุ่มชนชาวจีน เป็นต้น

สำหรับพิธีกรรมหรือกิจกรรมในรอบปีนั้น มีข้อน่าสังเกตว่าระยะหลังยังมีการกำหนดวันสำคัญต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อเน้นย้ำถึงความสมานสามัคคีและความจงรักภักดีต่อชาติและพระมหากษัตริย์ เช่น วันฉัตรมงคล วันจักรี เป็นต้น ประเพณี – พิธีกรรม หรือกิจกรรมตามวันสำคัญต่าง ๆ เหล่านี้ มีบทบาทในการทำให้สมาชิกมีความรู้สึกร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นโอกาสที่จะได้ร่วมทำบุญทำทาน กินเลี้ยง และรื่นเริงสนุกสนานร่วมกัน หนุ่มสาวก็มีโอกาสพบปะกัน อีกทั้งยังเป็นเหตุให้มีการรวมญาติรวมมิตรที่อาศัยอยู่ห่างไกลได้มาร่วมสังสรรค์กัน ทั้งหมดนี้คือ พิธีกรรมที่จะทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สังคมหรือประเทศชาติในที่สุด นำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน หากใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ก็เท่ากับว่าเราไม่ตกเป็นทาสของพิธีกรรม แต่เป็นนายของพิธีกรรม แต่มีข้อน่าสังเกตว่า เทศกาลสงกรานต์ในระยะหลังมานี้ กลับกลายเป็นเทศกาลของการเดินทางไกล และทำให้เกิดอุบัติเหตุมากจนน่าทบทวนในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งทางฝ่ายรัฐบาลและเอกชนตลอดจนประชาชนทั่วไป

ระบบความเชื่อ : ความเห็นเชิงลบและเชิงบวก 
ระบบความเชื่อประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วน ที่จะแยกทำความเข้าใจให้ชัดเจนขึ้นคือ ตำนาน สัญลักษณ์ และพิธีกรรม ตำนานหรือ (myth) คือ เรื่องเล่าอันแสดงที่มาหรือต้นเค้าว่าทำไมจึงเกิดสัญลักษณ์นั้น ๆ หรือพิธีกรรมนั้น ๆ หรือความเชื่อเช่นนั้น เช่น ประเพณีกรวดน้ำหลังทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ มีที่มาแต่ครั้งก่อนพุทธกาลว่าเมื่อพระโพธิสัตว์ใกล้จะบรรลุพระโพธิญาณ ได้มีกองทัพพญามาร (เปรียบได้กับกิเลส) ยกมาขัดขวางมิให้ทรงตรัสรู้ พญามาราธิราชถามพระโพธิสัตว์ว่า ท่านเป็นใคร สั่งสมบุญมาแต่ชาติไหน จึงคิดว่าจะตรัสรู้เป็นมหาบุรุษได้ในโลก พระโพธิสัตว์หรือเจ้าชายสิทธัตถะในเพศบรรพชิตทรงตอบว่า พระองค์ได้สั่งสมบุญบารมีมาเป็นอเนกชาติ ยักษ์ก็ท้าทายต่อไปว่าให้หาพยานมา พระโพธิสัตว์จึงชี้นิ้วไปที่พื้นดิน ทันใดนั้นแม่พระธรณีก็ปรากฏขึ้นและบีบมวยผมให้น้ำออกมาท่วมกองทัพพญามารแตกพ่ายไปและพระองค์ก็บรรลุพระโพธิญาณในที่สุด

เหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนนี้ทำให้เกิดรูปแบบวัฒนธรรมต่าง ๆ ตามมามากมาย เช่น พระพุทธรูปปางมารวิชัยในท่านั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวาวางบนพระเพลาขวา นิ้วพระดัชนีชี้ไปเบื้องต่ำ คือดิน และเกิดภาพจิตรกรรมฝาผนังตอนมารผจญ (น.ณ ปากน้ำ, 2530 : 237) ซึ่ง จิตรกรมักเขียนไว้ที่ผนังตรงข้ามพระประธาน นอกจากนี้ก็เกิดประเพณีกรวดน้ำหลังทำบุญทุกครั้ง จากความเชื่อว่า เมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบุญบารมีครั้งใดก็จะหลั่งน้ำไปสะสมไว้ที่แม่พระธรณีทุกครั้ง และทำให้เกิดประติมากรรมรูปแม่พระธรณีบีบมวยผมด้วย (ที่มีชื่อเสียงอยู่ที่มุมสนามหลวง ถนนราชดำเนินใน) อันที่จริง การกรวดน้ำก็เท่ากับเป็นการตั้งสมาธิจิต ตั้งความปรารถนาดีต่อญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ ต่อเจ้ากรรมนายเวร ซึ่งก็คือสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกให้ได้รับผลกุศลของเรา ซึ่งถ้าไม่สะดวกหรือลืม เราก็มักได้รับคำสอนจากผู้ใหญ่เสมอให้กรวดแห้งเอาก็ได้ หมายถึง ไม่ต้องใช้น้ำก็ได้ สิ่งสำคัญคือ ความตั้งใจแน่วแน่ต่อการอุทิศกุศล

ทุกสิ่งในโลก น่าจะมีทั้งคุณและโทษเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน ศาสนา คติความเชื่อที่สะท้อนผ่านวัฒนธรรมรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าศิลปกรรม ประเพณี พิธีกรรม หรือข้อห้าม ข้อปฏิบัติต่าง ๆ ก็ดี ล้วนมีคุณค่าในขณะเดียวกันก็อาจมีข้อเสียก็ได้ สุดแต่ผู้นำไปใช้จะมีดุลยพินิจเพียงใด ดังคำกล่าวที่ว่า เราจะตกเป็นทาสของประเพณีหรือเราจะนำประเพณีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ นั่นคือ การปฏิบัติตามประเพณีโดยไม่รู้ความหมายที่แท้จริง โดยอ้างว่าทำตามกันมา เพราะสิ่งนี้จะเข้าข่ายของความงมงายได้

ในสังคมไทยเรามักได้ยินคำกล่าวนี้เสมอคือ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” นั่นคือ เมื่อจัดงานประเพณี-พิธีกรรมทีไรก็มักจะสิ้นเปลืองเงินทองมากมาย ส่วนใหญ่หมดไปกับการจัดเลี้ยงแขก เป็นการรักษาศักดิ์ศรีฐานะของเจ้าภาพ แม้จะกู้หนี้ยืมสินก็ตาม หรือเมื่อจัดงานศพก็มักมีคำพูดว่า “คนตายขายคนเป็น” หมายถึง คนเป็นซึ่งหมายถึงเจ้าภาพและญาติพี่น้องก็มักจะต้องใช้เงินครั้งละมาก ๆ ไปกับการจัดงาน ซึ่งคำพูดนี้ไม่ยุติธรรมกับคนตายที่ไม่ได้มารู้เรื่องรู้ราวด้วยเลย อันที่จริงแล้วถ้าคนตายไม่ได้สั่งเสียให้ญาติจัดงานใหญ่โตก็น่าจะต้องกล่าวโทษเจ้าภาพที่เอาคนตายมาขาย นอกจากนี้ช่วงหลัง ๆ มานี้ เจ้าภาพถึงกับให้มีบ่อนการพนันมาเล่นในงานศพเพื่อเก็บค่าเช่า (ค่าต๋ง) ตัวอย่างนี้ยิ่งทำให้เห็นชัดว่า เราใช้ประเพณีเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ทั้งเป็นการนำไปสู่อบายมุขโดยตรง

ที่กล่าวไปแล้วนี้ เป็นตัวอย่างของการใช้วัฒนธรรมความเชื่อไปในเชิงลบ ในส่วนที่เป็นเชิงบวกนั้น ก็มีอยู่ไม่น้อย ดังจะขอจำแนกเป็นประเด็นต่อไปนี้

1. วัฒนธรรม-พิธีกรรม เป็นกลไกสร้างความเข้มแข็ง 
การมีความคิด ความเชื่อในสิ่งเดียวกันย่อมหมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความกลมเกลียวที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปด้วยกัน ซึ่งส่งผลถึงความเป็นปึกแผ่น ความเข้มแข็งของสังคมในที่สุด
ดังนั้น ความเชื่อในสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องผี เรื่องวิญญาณ จึงเป็นสิ่งที่จะอยู่คู่มนุษย์ต่อไป เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ความคิดทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบข้อสงสัยของมนุษย์ได้เราก็จะไปที่ระบบ ความเชื่อ

ดังนั้น สังคมไทยในอดีตจึงจัดระบบความเชื่อเรื่องผีไว้อย่างสลับซับซ้อน มีเหตุมีผล ประกอบด้วยผีดีที่ให้คุณ และผีร้ายที่ให้โทษเมื่อทำผิดต่อกฎเกณฑ์ของสังคม ความเชื่อในเรื่องนี้จึงกลายเป็นกลไกควบคุมสังคมที่สำคัญ (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2539 : 34) แต่สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันด้วยการเติบโตของระบบทุนนิยม รวมทั้งกฎหมายบ้านเมืองที่ลบล้างจารีตประเพณีดั้งเดิม ความเชื่อเรื่องผีที่เคยเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมสังคมก็ลดบทบาทที่เป็นระบบลง (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2539 : 34)

แต่ถ้าพิจารณาใคร่ครวญเรื่องของความเชื่อในความหมายที่ตรงกันข้ามแล้ว เราก็จะพบว่า ความเชื่อ พิธีกรรมก็อาจเกิดผลเชิงลบเช่นกัน หากผู้คนงมงายอย่างไร้เหตุผล เช่น การแจกน้ำมนตร์คาถานครฐานสูตรของกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนเมษายน 2545 ซึ่งเกิดทุจริตชนปลอมน้ำมนตร์มาเร่ขาย เพราะมีผู้คนแตกตื่นมาขอรับมากมายจนน้ำมนตร์ไม่พอแจก ทั้งยังเกิดภาวะระส่ำระสายจากฝูงชนที่แสดงความต้องการน้ำมนตร์อย่างแรงกล้า จึงปรากฏทุจริตชนที่ปลอมน้ำมนตร์ขายหาประโยชน์ให้ตนเอง
2. เป็นที่พึ่งทางใจ ขจัดความกังวล ความไม่มั่นใจ 
มนุษย์มีสัญชาตญาณของความกลัว ยิ่งในยุคที่ยังไม่มีหลักวิทยาศาสตร์อธิบายปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติได้ มนุษย์ก็ยิ่งกลัว ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า พายุ น้ำท่วม ฯลฯ มนุษย์จึงเชื่อว่ามีผีวิญญาณสิงอยู่ตามป่า เขา ทะเล ต้นไม้ แม้กระทั่งของใช้ในชีวิตประจำวัน การเซ่นสรวงไหว้พลี อ้อนวอน แม้กระทั่งติดสินบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ ทำให้มนุษย์หายหวาดกลัว สบายใจขึ้น มั่นใจขึ้น และเกิดเป็นรูปแบบวัฒนธรรมต่าง ๆ ขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้วิทยาศาสตร์จะอธิบายสิ่งนอกเหนือธรรมชาติเหล่านี้ได้ แต่บางครั้งก็ยังอธิบายไม่ได้ทั้งหมด เราจึงเห็นว่า คนในยุคปัจจุบันก็ยังนับถือภูติผีวิญญาณอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับความตาย (แสงอรุณ, 2542 : 38) เมื่อญาติพี่น้องคนใกล้ชิดถึงแก่ความตาย จึงมักมีพิธีกรรมเข้ามาช่วยลดความหวาดกลัวลงไป ต้องเอาข้าวเอาน้ำไปเซ่นไหว้ที่โลงศพให้มากินเครื่องเซ่น เพราะเกรงว่าวิญญาณจะหิวโหย ถึงเทศกาลที่เชื่อว่าโลกของผีจะเปิดประตูให้ลงมาเยี่ยมญาติในเมืองมนุษย์ก็จะมีพิธีทำบุญให้ และพิธีกรรมทำนองนี้จะพบว่ามีทุกภูมิภาค ทุกกลุ่มชนในสังคมไทย เช่น ภาคกลางมีพิธีทำบุญบังสุกุลอัฐิวันสงกรานต์ ภาคใต้มีประเพณีชิงเปรตหรือที่เรียกสารทเดือนสิบ คนจีนมีประเพณีไหว้เช็งเม้ง เป็นต้น พิธีกรรมดังกล่าวเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงโลกของคนเป็นกับโลกของคนตายให้มาอยู่ใกล้กัน ทำให้คนเป็นไม่รู้สึกว้าเหว่มากนัก เพราะได้มีกิจกรรมติดต่อกับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วเป็นครั้งเป็นคราว

นอกจากนี้หากทบทวนดี ๆ เราจะพบว่าประเพณีเกี่ยวกับวงจรชีวิตยังสร้างความเชื่อมั่นต่อสภาวะที่เรียกว่าจุดเปลี่ยนผ่านของชีวิตให้ดูสนิทแนบเนียนขึ้น เช่น ประเพณีบวชก็จะมีพิธีทำขวัญนาค เสมือนหนึ่งการกล่อมเกลาจิตใจนาคให้ก้าวเข้าสู่สภาวะภิกขุผู้นุ่งห่มผ้าเหลืองและจะใช้ชีวิตเยี่ยงคนในธรรมะที่ตนไม่คุ้นเคย เพื่อก้าวเข้าสู่การบวชเรียนให้เป็นคนสุกตามคติคนไทยก่อนจะเป็นผู้ใหญ่ที่ได้รับการยอมรับนับถือในสังคม และเข้าพิธีแต่งงานมีครอบครัวเป็นหลักเป็นฐานสืบไป เราจึงมีคำพูดล้อเลียนกันมาว่า “อย่าเบียดก่อนบวช”

ในพิธีแต่งงานก็เช่นกัน การที่คนสองคนจะตกลงใจหรือได้รับการตกลงจากผู้ใหญ่ให้ใช้ชีวิตร่วมกันไปตลอดชีวิต อาจเป็นความไม่คุ้นหน้า (ในยุคที่สังคมยังให้ความสำคัญกับความบริสุทธิ์ของทั้งคู่บ่าว-สาว) ความแปลกหรือความไม่คุ้นเคยนี้ทำให้ต้องมีพิธีแต่งงานเข้ามาเกี่ยวข้อง พิธีกินดอง (กินเลี้ยงเพื่อดองความเป็นญาติกันทั้งสองฝ่าย) ของทางภาคอีสาน เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ่าวสาวตลอดจนญาติทั้งสองฝ่าย กล่าวคือมีการ “ผูกข้อต่อแขน” ให้ญาติที่จะมาเป็นเขยหรือสะใภ้กับฝ่ายตนด้วย เท่ากับว่า พิธีกรรมเปิดโอกาสให้สร้างความคุ้นเคย ความอบอุ่นในระหว่างญาติมิตรที่จะมาเกี่ยวดองกันด้วยอากัปกิริยาใกล้ชิดสนิทสนม จากสัมผัสและเส้นฝ้ายที่ใช้ เท่ากับเป็นการสร้างความสบายใจ ความมั่นใจให้ทุกคนโดยเฉพาะบ่าว-สาว

3. ระบบความเชื่อ ช่วยรักษาสมดุลทางธรรมชาติ 
เป็นที่ทราบกันดีในปัจจุบันว่า ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่วิปริตผิดผันไปจากกฎเกณฑ์ธรรมชาติเช่นปรากฏการณ์เอลลินโญ่ เกิดจากการที่มนุษย์ฝืนธรรมชาติ ไม่ว่าตัดไม้ทีละจำนวนมาก ๆ หรือใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ (น้ำมัน แก๊ส) หรือน้ำจำนวนมหาศาล เพื่อใช้กับระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การฝ่าฝืนนี้ทำให้ธรรมชาติขาดความสมดุล มีผลให้เกิดน้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุรุนแรง ถึงฤดูฝน ฝนไม่ตก ถึงหน้าแล้งฝนกลับตกแบบกระเซ็นกระสาย ซึ่งสิ่งนี้ย่อมส่งผลมาถึงความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอันประมาณค่ามิได้ และเป็นผลกระทบในวงกว้างทุกภูมิภาคของโลก และน่าสังเกตว่าเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากในช่วงหลังๆ มานี้
ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ในขณะที่สังคมแต่ก่อนซึ่งยังเชื่อว่าดิน น้ำ ลม ไฟ มีวิญญาณสถิตประจำ คือ แม่พระธรณี (ดิน) แม่พระคงคา (น้ำ) พระพายุ (ลม) ไฟ (พระอัคนี) สามารถดลบันดาลภัยพิบัติได้หากไปลบหลู่ท่าน หรือนำท่านมาใช้อย่างประมาท

มีความเป็นไปได้ว่าการที่คนแต่ก่อนทำพิธีเซ่นสรวง พลีบูชาธรรมชาติเพราะเชื่อว่า ธรรมชาติมีวิญญาณสิงสถิตอยู่ ทำให้มนุษย์ไม่กล้าฝ่าฝืน ไม่กล้าทำลายธรรมชาติ จะตัดต้นไม้แต่ละต้นก็ต้องมีพิธีเซ่นสรวงขออนุญาตเทพารักษ์ เพื่อให้เทพารักษ์รู้ตัวและไม่โกรธคนตัด คนแต่ก่อนจึงตัดไม้เท่าที่ตนเองจะนำไปใช้สอย ทำให้ต้นไม้มีโอกาสเติบโตทัน ในขณะที่ระบบอุตสาหกรรมไม่เกรงกลัวเทพารักษ์จึงตัดทีละมาก ๆ หรือทีละภูเขา การขาดรากไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก ๆ ยึดน้ำไว้กับดิน จึงทำให้เกิดอุทกภัย ซึ่งปรากฏการณ์นี้หากจะใช้คำพูดอย่างคนโบราณก็คงจะเป็นคำว่า “ถูกฟ้าดินลงโทษ” ซึ่งก็ไม่ผิดความจริงมากนัก

พวกกะเหรี่ยง สะกอ หรือปกากะญอมีพิธีเอากระบอกสายสะดือเด็กเกิดใหม่แขวนกับต้นไม้ใหญ่ในป่า แสดงว่าห้ามตัด ถ้ามีเด็กเกิดใหม่มากต้นไม้ที่ห้ามตัดก็มากขึ้นด้วย เป็นวิธีเก็บรักษาป่าแบบกะเหรี่ยง (อรศิริ ปาณินท์, 2545) ภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงที่โยงความเชื่อกับการรักษาธรรมชาติด้วยวิธีนี้ เป็นแนวเดียวกับการที่คนไทยแต่ก่อนจะฝังรกไว้ที่ใต้ต้นไม้ หรือปลูกต้นไม้บนหลุมที่ฝังรกนี้ พร้อมกับบอกเล่าให้เด็กฟังเมื่อเด็กโตขึ้น เด็กก็จะรักษาต้นไม้นี้เสมือนเป็นต้นไม้คู่ชีพของเขา (เอกวิทย์ ณ ถลาง, 2545 : 37)

สังคมไทยยังมีประเพณีที่เกี่ยวกับธรรมชาติอีกมาก เช่นทางภาคเหนือมีพิธีสืบชาตาแม่น้ำ พิธีสืบชาตาต้นไม้ สืบชาตาป่า ในส่วนของพิธีกรรมที่เกี่ยวกับน้ำนั้น ที่คนไทยทุกภูมิภาครู้จักกันดี คือ ประเพณีลอยกระทง ซึ่งวัตถุประสงค์ดั้งเดิมก็คือ การขอขมาแม่พระคงคา (วิญญาณที่เชื่อว่ารักษาแม่น้ำลำคลอง) ที่ตนได้ล่วงเกิน ถ่ายเทสิ่งปฏิกูลลงไป และขอบคุณแม่พระคงคาที่ให้มนุษย์ได้ใช้อุปโภค บริโภค น่าเสียดายที่ประเพณีลอยกระทงเกิดความผิดเพี้ยนจากวัตถุประสงค์เดิมไปมาสู่สาระเพียงแค่ความสนุกสนาน และเพื่อให้หนุ่มสาวได้อธิษฐานร่วมกันภายใต้แสงจันทร์วันเพ็ญ ก่อนที่ (อาจจะ) จะนำไปสู่โศกนาฏกรรมในคลินิกเถื่อนหากเกิดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ หรือการที่หน่วยงานการท่องเที่ยวของรัฐบาลไทยหวังผลเพียงเพื่อให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวมากๆ ในช่วงเทศกาลลอยกระทง โดยไม่คำนึงถึงกระทงธรรมชาติหรือกระทงวัสดุสังเคราะห์ที่เป็นขยะในน้ำ (แม่พระคงคา) ว่าจะเพิ่มมากขึ้นจากปกติ

นอกจากนี้ ทางภาคใต้เราพบว่าบริเวณที่เป็นป่าช้านั้น จะเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติอันยากที่ผู้ใดจะกล้าล่วงล้ำเข้าไปได้ในขณะที่ธรรมชาติบริเวณอื่น ๆ ถูกมนุษย์รุกล้ำนำไปใช้จนเกิดสภาพเสื่อมโทรม แต่บริเวณป่าช้าจะไม่มีใครเข้ามารบกวน จึงยังคงความสมบูรณ์อยู่ และชาวบ้านเชื่อว่าถ้าเข้าไปขอเก็บผักหญ้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะไม่ถูกภูติผีลงโทษ นอกจากจะโลภนำออกไปทีละมาก ๆ เท่ากับธรรมชาติไม่มีโอกาสฟื้นตัว ปรากฏการณ์นี้ยังเกิดขึ้นในชนบททางภาคอีสานเช่นกัน คือบริเวณศาลผีปู่ตา ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน จะคงสภาพความสมบูรณ์ของธรรมชาติเช่นเดียวกับป่าช้าทางภาคใต้

ในสังคมไทย วัฒนธรรม คติความเชื่อ มีความเกี่ยวพันกับมนุษย์ทั้งในระดับปัจเจกและระดับชุมชนมาช้านาน ผู้ปกครองสมัยโบราณอาศัยความเชื่อทางศาสนาพุทธ พราหมณ์ผสานกับความเชื่อท้องถิ่นในระดับชาวบ้าน สร้างความเป็นปึกแผ่นให้สังคม แต่ทั้งนี้ผู้ปกครองก็จะต้องมีคุณธรรมด้วย นอกจากนี้ความเชื่อไม่ว่าจะเป็นทางคติพุทธ พราหมณ์ หรือผี จะให้คุณหรือโทษนั้นขึ้นอยู่กับมนุษย์ที่จะมีวิจารณญาณอย่างไร จะใช้ให้เป็นประโยชน์ก็ได้ หรือจะตกเป็นทาสด้วยความเชื่องมงาย ไร้เหตุผลก็ได้ เพราะแก่นพุทธศาสนาสอนให้มนุษย์มีเหตุผล เดินสายกลาง และผลเกิดจากเหตุ การมี “สติ” อาจทำให้ไม่เสีย “สตังค์” ค่างมงาย เช่น เสดาะเคราะห์ด้วยราคา 999 หรือ 99 บาท ซึ่งนอกจากเสียเงินทองแล้ว บางครั้งยังอาจเสียตัวด้วย โดยเฉพาะสตรี และต้องไม่ลืมคำนึงถึงความต่างของ 2 คำนี้ คือ
  • ไสยศาสตร์ (ไสยะ - ความหลับไหล งมงาย โง่เขลา มัวเมา)
  • พุทธศาสตร์ (พุทธะ - ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แจ่มใส)
จะเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเรื่องของศาสนา-ความเชื่อ เพราะสิ่งนี้ก่อให้เกิดศิลปวัฒนธรรม ค่านิยมต่าง ๆ โดยเฉพาะในสังคมไทยซึ่งมีสถาบันหลักคือ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตามยังมีวัฒนธรรมส่วนต่าง ๆ อีกมากมายในทุกภูมิภาคของไทยที่เกิดจากความเชื่อท้องถิ่นนั้น ๆ และสิ่งนี้เป็นประโยชน์ที่ทำให้เกิดการรวมตัวของสังคม โดยผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ที่เห็นเด่นชัดคือ ประเพณีหรือพิธีกรรมต่าง ๆ แต่จะต้องตระหนักว่า ในปัจจุบันมีการใช้ความเชื่อทางไสยศาสตร์มากมายเพื่อตอบสนองความไม่มั่นคงทางจิตใจของผู้คนที่ยังขาดความเชื่อมั่นในหลักธรรมทางศาสนา จึงเปิดโอกาสให้คนทุจริตอาศัยความงมงายเป็นช่องทางทำมาหากิน ดังนั้นจึงขอให้ใช้วิจารญาณในเรื่องนี้ให้ดีและถ้วนถี่ เพราะความเชื่อทางศาสนามิใช่แสดงออกทางวัตถุเครื่องลางของขลังติดตัวเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงแบบแผนวิถีชีวิตทุกเรื่อง ไม่ว่าการกิน การอยู่ การรักษาพยาบาล แม้การนุ่งห่มหรือข้อห้ามต่าง ๆ ที่เป็นจารีตหรือกลไกให้คนในสังคมได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติสมานฉันท์จากวัฒนธรรมหลากมิติ

ระบบความเชื่อ : ความเห็นเชิงลบและเชิงบวก 
ระบบความเชื่อประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วน ที่จะแยกทำความเข้าใจให้ชัดเจนขึ้นคือ ตำนาน สัญลักษณ์ และพิธีกรรม ตำนานหรือ (myth) คือ เรื่องเล่าอันแสดงที่มาหรือต้นเค้าว่าทำไมจึงเกิดสัญลักษณ์นั้น ๆ หรือพิธีกรรมนั้น ๆ หรือความเชื่อเช่นนั้น เช่น ประเพณีกรวดน้ำหลังทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ มีที่มาแต่ครั้งก่อนพุทธกาลว่าเมื่อพระโพธิสัตว์ใกล้จะบรรลุพระโพธิญาณ ได้มีกองทัพพญามาร (เปรียบได้กับกิเลส) ยกมาขัดขวางมิให้ทรงตรัสรู้ พญามาราธิราชถามพระโพธิสัตว์ว่า ท่านเป็นใคร สั่งสมบุญมาแต่ชาติไหน จึงคิดว่าจะตรัสรู้เป็นมหาบุรุษได้ในโลก พระโพธิสัตว์หรือเจ้าชายสิทธัตถะในเพศบรรพชิตทรงตอบว่า พระองค์ได้สั่งสมบุญบารมีมาเป็นอเนกชาติ ยักษ์ก็ท้าทายต่อไปว่าให้หาพยานมา พระโพธิสัตว์จึงชี้นิ้วไปที่พื้นดิน ทันใดนั้นแม่พระธรณีก็ปรากฏขึ้นและบีบมวยผมให้น้ำออกมาท่วมกองทัพพญามารแตกพ่ายไปและพระองค์ก็บรรลุพระโพธิญาณในที่สุด

เหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนนี้ทำให้เกิดรูปแบบวัฒนธรรมต่าง ๆ ตามมามากมาย เช่น พระพุทธรูปปางมารวิชัยในท่านั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวาวางบนพระเพลาขวา นิ้วพระดัชนีชี้ไปเบื้องต่ำ คือดิน และเกิดภาพจิตรกรรมฝาผนังตอนมารผจญ (น.ณ ปากน้ำ, 2530 : 237) ซึ่ง จิตรกรมักเขียนไว้ที่ผนังตรงข้ามพระประธาน นอกจากนี้ก็เกิดประเพณีกรวดน้ำหลังทำบุญทุกครั้ง จากความเชื่อว่า เมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบุญบารมีครั้งใดก็จะหลั่งน้ำไปสะสมไว้ที่แม่พระธรณีทุกครั้ง และทำให้เกิดประติมากรรมรูปแม่พระธรณีบีบมวยผมด้วย (ที่มีชื่อเสียงอยู่ที่มุมสนามหลวง ถนนราชดำเนินใน) อันที่จริง การกรวดน้ำก็เท่ากับเป็นการตั้งสมาธิจิต ตั้งความปรารถนาดีต่อญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ ต่อเจ้ากรรมนายเวร ซึ่งก็คือสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกให้ได้รับผลกุศลของเรา ซึ่งถ้าไม่สะดวกหรือลืม เราก็มักได้รับคำสอนจากผู้ใหญ่เสมอให้กรวดแห้งเอาก็ได้ หมายถึง ไม่ต้องใช้น้ำก็ได้ สิ่งสำคัญคือ ความตั้งใจแน่วแน่ต่อการอุทิศกุศล

ทุกสิ่งในโลก น่าจะมีทั้งคุณและโทษเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน ศาสนา คติความเชื่อที่สะท้อนผ่านวัฒนธรรมรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าศิลปกรรม ประเพณี พิธีกรรม หรือข้อห้าม ข้อปฏิบัติต่าง ๆ ก็ดี ล้วนมีคุณค่าในขณะเดียวกันก็อาจมีข้อเสียก็ได้ สุดแต่ผู้นำไปใช้จะมีดุลยพินิจเพียงใด ดังคำกล่าวที่ว่า เราจะตกเป็นทาสของประเพณีหรือเราจะนำประเพณีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ นั่นคือ การปฏิบัติตามประเพณีโดยไม่รู้ความหมายที่แท้จริง โดยอ้างว่าทำตามกันมา เพราะสิ่งนี้จะเข้าข่ายของความงมงายได้

ในสังคมไทยเรามักได้ยินคำกล่าวนี้เสมอคือ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” นั่นคือ เมื่อจัดงานประเพณี-พิธีกรรมทีไรก็มักจะสิ้นเปลืองเงินทองมากมาย ส่วนใหญ่หมดไปกับการจัดเลี้ยงแขก เป็นการรักษาศักดิ์ศรีฐานะของเจ้าภาพ แม้จะกู้หนี้ยืมสินก็ตาม หรือเมื่อจัดงานศพก็มักมีคำพูดว่า “คนตายขายคนเป็น” หมายถึง คนเป็นซึ่งหมายถึงเจ้าภาพและญาติพี่น้องก็มักจะต้องใช้เงินครั้งละมาก ๆ ไปกับการจัดงาน ซึ่งคำพูดนี้ไม่ยุติธรรมกับคนตายที่ไม่ได้มารู้เรื่องรู้ราวด้วยเลย อันที่จริงแล้วถ้าคนตายไม่ได้สั่งเสียให้ญาติจัดงานใหญ่โตก็น่าจะต้องกล่าวโทษเจ้าภาพที่เอาคนตายมาขาย นอกจากนี้ช่วงหลัง ๆ มานี้ เจ้าภาพถึงกับให้มีบ่อนการพนันมาเล่นในงานศพเพื่อเก็บค่าเช่า (ค่าต๋ง) ตัวอย่างนี้ยิ่งทำให้เห็นชัดว่า เราใช้ประเพณีเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ทั้งเป็นการนำไปสู่อบายมุขโดยตรง

ที่กล่าวไปแล้วนี้ เป็นตัวอย่างของการใช้วัฒนธรรมความเชื่อไปในเชิงลบ ในส่วนที่เป็นเชิงบวกนั้น ก็มีอยู่ไม่น้อย ดังจะขอจำแนกเป็นประเด็นต่อไปนี้

1. วัฒนธรรม-พิธีกรรม เป็นกลไกสร้างความเข้มแข็ง 
การมีความคิด ความเชื่อในสิ่งเดียวกันย่อมหมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความกลมเกลียวที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปด้วยกัน ซึ่งส่งผลถึงความเป็นปึกแผ่น ความเข้มแข็งของสังคมในที่สุด
ดังนั้น ความเชื่อในสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องผี เรื่องวิญญาณ จึงเป็นสิ่งที่จะอยู่คู่มนุษย์ต่อไป เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ความคิดทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบข้อสงสัยของมนุษย์ได้เราก็จะไปที่ระบบ ความเชื่อ

ดังนั้น สังคมไทยในอดีตจึงจัดระบบความเชื่อเรื่องผีไว้อย่างสลับซับซ้อน มีเหตุมีผล ประกอบด้วยผีดีที่ให้คุณ และผีร้ายที่ให้โทษเมื่อทำผิดต่อกฎเกณฑ์ของสังคม ความเชื่อในเรื่องนี้จึงกลายเป็นกลไกควบคุมสังคมที่สำคัญ (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2539 : 34) แต่สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันด้วยการเติบโตของระบบทุนนิยม รวมทั้งกฎหมายบ้านเมืองที่ลบล้างจารีตประเพณีดั้งเดิม ความเชื่อเรื่องผีที่เคยเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมสังคมก็ลดบทบาทที่เป็นระบบลง (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2539 : 34)

แต่ถ้าพิจารณาใคร่ครวญเรื่องของความเชื่อในความหมายที่ตรงกันข้ามแล้ว เราก็จะพบว่า ความเชื่อ พิธีกรรมก็อาจเกิดผลเชิงลบเช่นกัน หากผู้คนงมงายอย่างไร้เหตุผล เช่น การแจกน้ำมนตร์คาถานครฐานสูตรของกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนเมษายน 2545 ซึ่งเกิดทุจริตชนปลอมน้ำมนตร์มาเร่ขาย เพราะมีผู้คนแตกตื่นมาขอรับมากมายจนน้ำมนตร์ไม่พอแจก ทั้งยังเกิดภาวะระส่ำระสายจากฝูงชนที่แสดงความต้องการน้ำมนตร์อย่างแรงกล้า จึงปรากฏทุจริตชนที่ปลอมน้ำมนตร์ขายหาประโยชน์ให้ตนเอง
2. เป็นที่พึ่งทางใจ ขจัดความกังวล ความไม่มั่นใจ 
มนุษย์มีสัญชาตญาณของความกลัว ยิ่งในยุคที่ยังไม่มีหลักวิทยาศาสตร์อธิบายปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติได้ มนุษย์ก็ยิ่งกลัว ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า พายุ น้ำท่วม ฯลฯ มนุษย์จึงเชื่อว่ามีผีวิญญาณสิงอยู่ตามป่า เขา ทะเล ต้นไม้ แม้กระทั่งของใช้ในชีวิตประจำวัน การเซ่นสรวงไหว้พลี อ้อนวอน แม้กระทั่งติดสินบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ ทำให้มนุษย์หายหวาดกลัว สบายใจขึ้น มั่นใจขึ้น และเกิดเป็นรูปแบบวัฒนธรรมต่าง ๆ ขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้วิทยาศาสตร์จะอธิบายสิ่งนอกเหนือธรรมชาติเหล่านี้ได้ แต่บางครั้งก็ยังอธิบายไม่ได้ทั้งหมด เราจึงเห็นว่า คนในยุคปัจจุบันก็ยังนับถือภูติผีวิญญาณอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับความตาย (แสงอรุณ, 2542 : 38) เมื่อญาติพี่น้องคนใกล้ชิดถึงแก่ความตาย จึงมักมีพิธีกรรมเข้ามาช่วยลดความหวาดกลัวลงไป ต้องเอาข้าวเอาน้ำไปเซ่นไหว้ที่โลงศพให้มากินเครื่องเซ่น เพราะเกรงว่าวิญญาณจะหิวโหย ถึงเทศกาลที่เชื่อว่าโลกของผีจะเปิดประตูให้ลงมาเยี่ยมญาติในเมืองมนุษย์ก็จะมีพิธีทำบุญให้ และพิธีกรรมทำนองนี้จะพบว่ามีทุกภูมิภาค ทุกกลุ่มชนในสังคมไทย เช่น ภาคกลางมีพิธีทำบุญบังสุกุลอัฐิวันสงกรานต์ ภาคใต้มีประเพณีชิงเปรตหรือที่เรียกสารทเดือนสิบ คนจีนมีประเพณีไหว้เช็งเม้ง เป็นต้น พิธีกรรมดังกล่าวเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงโลกของคนเป็นกับโลกของคนตายให้มาอยู่ใกล้กัน ทำให้คนเป็นไม่รู้สึกว้าเหว่มากนัก เพราะได้มีกิจกรรมติดต่อกับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วเป็นครั้งเป็นคราว

นอกจากนี้หากทบทวนดี ๆ เราจะพบว่าประเพณีเกี่ยวกับวงจรชีวิตยังสร้างความเชื่อมั่นต่อสภาวะที่เรียกว่าจุดเปลี่ยนผ่านของชีวิตให้ดูสนิทแนบเนียนขึ้น เช่น ประเพณีบวชก็จะมีพิธีทำขวัญนาค เสมือนหนึ่งการกล่อมเกลาจิตใจนาคให้ก้าวเข้าสู่สภาวะภิกขุผู้นุ่งห่มผ้าเหลืองและจะใช้ชีวิตเยี่ยงคนในธรรมะที่ตนไม่คุ้นเคย เพื่อก้าวเข้าสู่การบวชเรียนให้เป็นคนสุกตามคติคนไทยก่อนจะเป็นผู้ใหญ่ที่ได้รับการยอมรับนับถือในสังคม และเข้าพิธีแต่งงานมีครอบครัวเป็นหลักเป็นฐานสืบไป เราจึงมีคำพูดล้อเลียนกันมาว่า “อย่าเบียดก่อนบวช”

ในพิธีแต่งงานก็เช่นกัน การที่คนสองคนจะตกลงใจหรือได้รับการตกลงจากผู้ใหญ่ให้ใช้ชีวิตร่วมกันไปตลอดชีวิต อาจเป็นความไม่คุ้นหน้า (ในยุคที่สังคมยังให้ความสำคัญกับความบริสุทธิ์ของทั้งคู่บ่าว-สาว) ความแปลกหรือความไม่คุ้นเคยนี้ทำให้ต้องมีพิธีแต่งงานเข้ามาเกี่ยวข้อง พิธีกินดอง (กินเลี้ยงเพื่อดองความเป็นญาติกันทั้งสองฝ่าย) ของทางภาคอีสาน เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ่าวสาวตลอดจนญาติทั้งสองฝ่าย กล่าวคือมีการ “ผูกข้อต่อแขน” ให้ญาติที่จะมาเป็นเขยหรือสะใภ้กับฝ่ายตนด้วย เท่ากับว่า พิธีกรรมเปิดโอกาสให้สร้างความคุ้นเคย ความอบอุ่นในระหว่างญาติมิตรที่จะมาเกี่ยวดองกันด้วยอากัปกิริยาใกล้ชิดสนิทสนม จากสัมผัสและเส้นฝ้ายที่ใช้ เท่ากับเป็นการสร้างความสบายใจ ความมั่นใจให้ทุกคนโดยเฉพาะบ่าว-สาว

3. ระบบความเชื่อ ช่วยรักษาสมดุลทางธรรมชาติ 
เป็นที่ทราบกันดีในปัจจุบันว่า ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่วิปริตผิดผันไปจากกฎเกณฑ์ธรรมชาติเช่นปรากฏการณ์เอลลินโญ่ เกิดจากการที่มนุษย์ฝืนธรรมชาติ ไม่ว่าตัดไม้ทีละจำนวนมาก ๆ หรือใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ (น้ำมัน แก๊ส) หรือน้ำจำนวนมหาศาล เพื่อใช้กับระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การฝ่าฝืนนี้ทำให้ธรรมชาติขาดความสมดุล มีผลให้เกิดน้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุรุนแรง ถึงฤดูฝน ฝนไม่ตก ถึงหน้าแล้งฝนกลับตกแบบกระเซ็นกระสาย ซึ่งสิ่งนี้ย่อมส่งผลมาถึงความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอันประมาณค่ามิได้ และเป็นผลกระทบในวงกว้างทุกภูมิภาคของโลก และน่าสังเกตว่าเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากในช่วงหลังๆ มานี้
ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ในขณะที่สังคมแต่ก่อนซึ่งยังเชื่อว่าดิน น้ำ ลม ไฟ มีวิญญาณสถิตประจำ คือ แม่พระธรณี (ดิน) แม่พระคงคา (น้ำ) พระพายุ (ลม) ไฟ (พระอัคนี) สามารถดลบันดาลภัยพิบัติได้หากไปลบหลู่ท่าน หรือนำท่านมาใช้อย่างประมาท

มีความเป็นไปได้ว่าการที่คนแต่ก่อนทำพิธีเซ่นสรวง พลีบูชาธรรมชาติเพราะเชื่อว่า ธรรมชาติมีวิญญาณสิงสถิตอยู่ ทำให้มนุษย์ไม่กล้าฝ่าฝืน ไม่กล้าทำลายธรรมชาติ จะตัดต้นไม้แต่ละต้นก็ต้องมีพิธีเซ่นสรวงขออนุญาตเทพารักษ์ เพื่อให้เทพารักษ์รู้ตัวและไม่โกรธคนตัด คนแต่ก่อนจึงตัดไม้เท่าที่ตนเองจะนำไปใช้สอย ทำให้ต้นไม้มีโอกาสเติบโตทัน ในขณะที่ระบบอุตสาหกรรมไม่เกรงกลัวเทพารักษ์จึงตัดทีละมาก ๆ หรือทีละภูเขา การขาดรากไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก ๆ ยึดน้ำไว้กับดิน จึงทำให้เกิดอุทกภัย ซึ่งปรากฏการณ์นี้หากจะใช้คำพูดอย่างคนโบราณก็คงจะเป็นคำว่า “ถูกฟ้าดินลงโทษ” ซึ่งก็ไม่ผิดความจริงมากนัก

พวกกะเหรี่ยง สะกอ หรือปกากะญอมีพิธีเอากระบอกสายสะดือเด็กเกิดใหม่แขวนกับต้นไม้ใหญ่ในป่า แสดงว่าห้ามตัด ถ้ามีเด็กเกิดใหม่มากต้นไม้ที่ห้ามตัดก็มากขึ้นด้วย เป็นวิธีเก็บรักษาป่าแบบกะเหรี่ยง (อรศิริ ปาณินท์, 2545) ภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงที่โยงความเชื่อกับการรักษาธรรมชาติด้วยวิธีนี้ เป็นแนวเดียวกับการที่คนไทยแต่ก่อนจะฝังรกไว้ที่ใต้ต้นไม้ หรือปลูกต้นไม้บนหลุมที่ฝังรกนี้ พร้อมกับบอกเล่าให้เด็กฟังเมื่อเด็กโตขึ้น เด็กก็จะรักษาต้นไม้นี้เสมือนเป็นต้นไม้คู่ชีพของเขา (เอกวิทย์ ณ ถลาง, 2545 : 37)

สังคมไทยยังมีประเพณีที่เกี่ยวกับธรรมชาติอีกมาก เช่นทางภาคเหนือมีพิธีสืบชาตาแม่น้ำ พิธีสืบชาตาต้นไม้ สืบชาตาป่า ในส่วนของพิธีกรรมที่เกี่ยวกับน้ำนั้น ที่คนไทยทุกภูมิภาครู้จักกันดี คือ ประเพณีลอยกระทง ซึ่งวัตถุประสงค์ดั้งเดิมก็คือ การขอขมาแม่พระคงคา (วิญญาณที่เชื่อว่ารักษาแม่น้ำลำคลอง) ที่ตนได้ล่วงเกิน ถ่ายเทสิ่งปฏิกูลลงไป และขอบคุณแม่พระคงคาที่ให้มนุษย์ได้ใช้อุปโภค บริโภค น่าเสียดายที่ประเพณีลอยกระทงเกิดความผิดเพี้ยนจากวัตถุประสงค์เดิมไปมาสู่สาระเพียงแค่ความสนุกสนาน และเพื่อให้หนุ่มสาวได้อธิษฐานร่วมกันภายใต้แสงจันทร์วันเพ็ญ ก่อนที่ (อาจจะ) จะนำไปสู่โศกนาฏกรรมในคลินิกเถื่อนหากเกิดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ หรือการที่หน่วยงานการท่องเที่ยวของรัฐบาลไทยหวังผลเพียงเพื่อให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวมากๆ ในช่วงเทศกาลลอยกระทง โดยไม่คำนึงถึงกระทงธรรมชาติหรือกระทงวัสดุสังเคราะห์ที่เป็นขยะในน้ำ (แม่พระคงคา) ว่าจะเพิ่มมากขึ้นจากปกติ

นอกจากนี้ ทางภาคใต้เราพบว่าบริเวณที่เป็นป่าช้านั้น จะเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติอันยากที่ผู้ใดจะกล้าล่วงล้ำเข้าไปได้ในขณะที่ธรรมชาติบริเวณอื่น ๆ ถูกมนุษย์รุกล้ำนำไปใช้จนเกิดสภาพเสื่อมโทรม แต่บริเวณป่าช้าจะไม่มีใครเข้ามารบกวน จึงยังคงความสมบูรณ์อยู่ และชาวบ้านเชื่อว่าถ้าเข้าไปขอเก็บผักหญ้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะไม่ถูกภูติผีลงโทษ นอกจากจะโลภนำออกไปทีละมาก ๆ เท่ากับธรรมชาติไม่มีโอกาสฟื้นตัว ปรากฏการณ์นี้ยังเกิดขึ้นในชนบททางภาคอีสานเช่นกัน คือบริเวณศาลผีปู่ตา ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน จะคงสภาพความสมบูรณ์ของธรรมชาติเช่นเดียวกับป่าช้าทางภาคใต้

ในสังคมไทย วัฒนธรรม คติความเชื่อ มีความเกี่ยวพันกับมนุษย์ทั้งในระดับปัจเจกและระดับชุมชนมาช้านาน ผู้ปกครองสมัยโบราณอาศัยความเชื่อทางศาสนาพุทธ พราหมณ์ผสานกับความเชื่อท้องถิ่นในระดับชาวบ้าน สร้างความเป็นปึกแผ่นให้สังคม แต่ทั้งนี้ผู้ปกครองก็จะต้องมีคุณธรรมด้วย นอกจากนี้ความเชื่อไม่ว่าจะเป็นทางคติพุทธ พราหมณ์ หรือผี จะให้คุณหรือโทษนั้นขึ้นอยู่กับมนุษย์ที่จะมีวิจารณญาณอย่างไร จะใช้ให้เป็นประโยชน์ก็ได้ หรือจะตกเป็นทาสด้วยความเชื่องมงาย ไร้เหตุผลก็ได้ เพราะแก่นพุทธศาสนาสอนให้มนุษย์มีเหตุผล เดินสายกลาง และผลเกิดจากเหตุ การมี “สติ” อาจทำให้ไม่เสีย “สตังค์” ค่างมงาย เช่น เสดาะเคราะห์ด้วยราคา 999 หรือ 99 บาท ซึ่งนอกจากเสียเงินทองแล้ว บางครั้งยังอาจเสียตัวด้วย โดยเฉพาะสตรี และต้องไม่ลืมคำนึงถึงความต่างของ 2 คำนี้ คือ
  • ไสยศาสตร์ (ไสยะ - ความหลับไหล งมงาย โง่เขลา มัวเมา)
  • พุทธศาสตร์ (พุทธะ - ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แจ่มใส)
จะเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเรื่องของศาสนา-ความเชื่อ เพราะสิ่งนี้ก่อให้เกิดศิลปวัฒนธรรม ค่านิยมต่าง ๆ โดยเฉพาะในสังคมไทยซึ่งมีสถาบันหลักคือ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตามยังมีวัฒนธรรมส่วนต่าง ๆ อีกมากมายในทุกภูมิภาคของไทยที่เกิดจากความเชื่อท้องถิ่นนั้น ๆ และสิ่งนี้เป็นประโยชน์ที่ทำให้เกิดการรวมตัวของสังคม โดยผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ที่เห็นเด่นชัดคือ ประเพณีหรือพิธีกรรมต่าง ๆ แต่จะต้องตระหนักว่า ในปัจจุบันมีการใช้ความเชื่อทางไสยศาสตร์มากมายเพื่อตอบสนองความไม่มั่นคงทางจิตใจของผู้คนที่ยังขาดความเชื่อมั่นในหลักธรรมทางศาสนา จึงเปิดโอกาสให้คนทุจริตอาศัยความงมงายเป็นช่องทางทำมาหากิน ดังนั้นจึงขอให้ใช้วิจารญาณในเรื่องนี้ให้ดีและถ้วนถี่ เพราะความเชื่อทางศาสนามิใช่แสดงออกทางวัตถุเครื่องลางของขลังติดตัวเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงแบบแผนวิถีชีวิตทุกเรื่อง ไม่ว่าการกิน การอยู่ การรักษาพยาบาล แม้การนุ่งห่มหรือข้อห้ามต่าง ๆ ที่เป็นจารีตหรือกลไกให้คนในสังคมได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติสมานฉันท์จากวัฒนธรรมหลากมิติ

ขอบคุณข้อมูลดีจาก  http://www.baanjomyut.com/library/culture_faith/03.html